ปมร้อนเวทีเอเปค 2021 “การเข้าถึงวัคซีนโควิด” ฟื้นเศรษฐกิจ

OPEC
FILE PHOTO : ALEXANDER KLEIN / AFP

“เอเปก” กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บูรไน ฟิลิปปินส์ ไทย จีน จีนไทเป ฮ่องกง ปาปัวนิวกินี เม็กซิโก ชิลี เปรู เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ถือเป็นเวทีที่สำคัญเวทีหนึ่งของโลก

ในปี 2564 นี้ “นิวซีแลนด์” รับหน้าที่เป็นประธานการประชุมเอเปก มีกำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) ในวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล ฝ่ายไทยมี “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะ

ในการประชุมรอบนี้ได้แบ่งการหารือเป็น 3 กลุ่ม คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การรับมือทางเศรษฐกิจต่อโควิด-19 การฟื้นตัวและการกลับมาให้ดีกว่าเดิมหลังโควิด-19ซึ่งฝ่ายไทยจะร่วมหารือในกลุ่มที่ 2 เรื่องแนวทางการรับมือทางเศรษฐกิจต่อโควิด-19 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและกลยุทธ์สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเปกและรูปแบบการค้าใหม่ในยุคโควิด-19

ร่วมกับผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) จากจีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ

อาทิ องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) และสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council : PECC)

ไฮไลต์การประชุมเอเปคครั้งนี้ยังเป็นเรื่องการเข้าถึงวัคซีนและการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ในช่วงโควิด (Essentail Goods ) ในเวทีการค้าโลก

ไทยชูภูเก็ตแซนด์บอกซ์

ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ คือ การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประชาชน และการกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเปกอีกครั้งหลังโควิด-19 เช่น การกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับการเดินทาง

โดย “ไทย” มีแผนการจะเปิดพรมแดนอีกครั้งตามแผนงาน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว

นอกจากนี้ จะมีการหารือโมเดลการค้าใหม่รับยุค new normal เช่น การเจรจาซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ผ่านความร่วมมือระดับจังหวัดและระดับประเทศในการสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจชุมชนในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยใช้เทคโนโลยีและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าและความยั่งยืนผ่านหลักเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG economy) ในการฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลังโควิด-19

รมต.เอเปกออก 3 แถลงการณ์

จากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน 2564 จะมีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting) ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งที่ประชุมมีแผนจะร่วมกันออกแถลงการณ์ 3 ฉบับ คือ

1) แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปก เน้นความสำคัญของการค้าเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 และระบบการค้าพหุภาคีของ WTO ที่จะช่วยส่งเสริมการค้าที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรม 2) แถลงการณ์เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 และ 3) แถลงการณ์เรื่องการบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น

จีดีพีเอเปกปี 64 ฟื้น

สำหรับไทยได้ให้ความสำคัญกับเอเปกอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขมูลค่าการค้ารวมจำนวนมหาศาล คิดเป็นสัดส่วน 71.9% ของการค้ารวมไทยในปี 2563 การค้าระหว่างไทย-กลุ่มเศรษฐกิจเอเปกมูลค่า 315.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หรือ 9.8 ล้านล้านบาท โดยไทยส่งออกไปเอเปกมูลค่า 164.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5.1 ล้านล้านบาท และนำเข้าจากเอเปกมูลค่า 150.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.7 ล้านล้านบาท

สำหรับในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.)ของปี 2564 การค้าระหว่างไทย-เอเปกอยู่ที่ 121.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (3.66 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.30 ของการค้ารวมไทย

โดยไทยส่งออกไปเอเปกมูลค่า 60.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.82 ล้านล้านบาท และนำเข้าจากเอเปก 60.57 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.80 ล้านล้านบาท

สะท้อนว่าเศรษฐกิจของประเทศเอเปกมีความสำคัญต่อการค้าของไทย

โดยมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจเอเปกในปีนี้จะพลิกกลับมาเติบโต 6.3% จากปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปกหดตัวลง 1.9% ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 สัญญาณดังกล่าวมาจากผลการวิเคราะห์แนวโน้มระดับภูมิภาคล่าสุดของ APEC เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ซึ่งพบว่าการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของเอเปกปรับตัวดีขึ้นเป็น -3.9% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่ -7.0%

ขณะที่การลงทุนมีแนวโนมฟื้นตัวเช่นกัน โดยครึ่งปีหลังของปี 2563 หดตัว 6.1% เทียบกับในครึ่งแรก -10.5%

นั่นเป็นผลจากการที่รัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเรียนรู้วิธีจัดการโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้คนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับวิธีการหาเลี้ยงชีพแบบใหม่ หรือ new normal ส่งผลให้มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับมาเริ่มกิจกรรมใหม่อีกครั้ง

ซึ่งกระตุ้นการบริโภคทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกคึกคักจากปีที่ผ่านมาที่ดีมานด์ถูกกั้นไว้โดยโควิด ที่สำคัญ “การพัฒนาและการผลิตวัคซีนหลายชนิดยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น”

ห่วงช่องว่าง “วัคซีน”

ดร.เดนิส ฮิว ผู้อำนวยการหน่วยสนับสนุนนโยบายเอเปกกล่าวว่า เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปตลอดปี 2564

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงานและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้ และความอ่อนแอในการลงทุนที่คาดว่าจะต่อเนื่องในปี 2564

“การฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอในภูมิภาคส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงวัคซีนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ประเทศสมาชิกเอเปกส่วนใหญ่สามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้างได้ภายในกลางปี 2565 เป็นต้นไป โดยที่บางประเทศคาดว่าจะทำได้เร็วกว่านั้นภายในสิ้นปี 2564”

ขณะที่ Rhea C. Hernando นักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มีนโยบายเอเปกกล่าวตอนหนึ่งว่า การเข้าถึงวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกันส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน

โดยประเทศที่มีรายได้น้อยต้องพึ่งพาศูนย์การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก หรืิอ COVAX ในการจัดหาวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความพยายามในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้นเปราะบางมากท่ามกลางความเสี่ยงที่ไวรัส

และเกิดช่องว่าง ซึ่งเอเปกจำเป็นต้องร่วมกันส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อลดปัญหาช่องว่าง โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ประเด็นสำคัญทั้งหมดนี้ “ไทย” ต้องเตรียมพร้อมก่อนที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปี 2022 (2565)